You are currently viewing แนะนำ กฎหมาย e-Service

แนะนำ กฎหมาย e-Service

       เนื่องจากยุคสมัยปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของทุกคน นอกจากเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ แพลตฟอร์มดิจิทัลแล้ว ในด้านของกฎหมายเองก็ได้มีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น

       ซึ่งหัวข้อที่เราจะมาพูดถึงกันในวันนี้ก็คือ กฎหมาย e-Service ซึ่งออกมาเพื่อจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างชาติ (e-Service) โดยกฎหมายฉบับนี้ได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 (พระราชบัญญัติแก้ไขประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564)

กฎหมาย e-Service คืออะไร?

       กฎหมาย e-Service คือ กฎหมายที่ให้อำนาจกรมสรรพากรจัดเก็บ VAT จากผู้ให้บริการต่างประเทศ และแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการทาง Online แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทยที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งผู้ให้บริการ หรืออิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต่างประเทศจะมีหน้าที่ต้องจดทะเบียน และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากรในอัตรา 7%

จุดประสงค์ของกฎหมายฉบับนี้

     เพื่อสร้างความเป็นธรรม และสร้าง โอกาสความเท่าเทียมในการแข่งขัน ทางการค้า (Level Playing Field) ระหว่างผู้ประกอบการ หรืออิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มประเทศไทย และต่างประเทศ เนื่องจากในอดีตผู้ประกอบการ หรืออิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มในประเทศไทยที่ให้บริการ e–Service จะต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ยื่นแบบ และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มมาโดยตลอด ในขณะที่ผู้ประกอบการ หรืออิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการ e-Service ในประเทศไทยไม่มีหน้าที่ต้องดำเนินการดังกล่าว

ประเทศอื่นมีกฎหมายลักษณะนี้หรือไม่ ?

     กว่า 60 ประเทศ ได้มีการออกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มในลักษณะนี้แล้ว เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น เนื่องจากเป็นทางออกที่เป็นมาตรฐานสากลซึ่งองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) 

ใครมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากร?

     ในกรณีที่ผู้รับบริการเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ประกอบการต่างประเทศ หรืออิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มต่างประเทศ จะมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ และนำส่งภาษี ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการที่เป็นประชาชนทั่วไปได้รับความสะดวกมากขึ้น (จากเดิมที่มีภาระต้องนำส่งภาษีแทนผู้ประกอบการต่างประเทศ) อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ยังคงมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มจากการใช้บริการทาง อิเล็กทรอนิกส์อยู่ ตามแบบ ภ.พ. 36 โดยยังคงสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่นำส่งดังกล่าวไปใช้เป็นภาษีซื้อในการคำ นวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้

ผู้ประกอบการต่างชาติที่อยู่ในบังคับกฎหมายฉบับนี้ต้องทำอย่างไร ?

    ผู้ประกอบการดังกล่าวจะต้องลงทะเบียนผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) โดยสามารถเข้าถึงระบบดังกล่าวได้ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (https://eservice.rd.go. th/rd-ves-web/landing) เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ระบบ VAT registrants outside of Thailand (https://eservice.rd. go.th/rd-ves-web/search/company)

บริการใดบ้างที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายฉบับนี้?

   บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวคือ บริการ ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด โดยลักษณะของบริการเป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าว มาสามารถกระทำได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ ตัวอย่างเช่น

  • ธุรกิจ e-Commerce ที่เปิดให้บริการซื้อขาย สินค้าผ่าน Marketplace ออนไลน์
  • ธุรกิจที่มีรายได้จากค่าโฆษณาและเปิดให้ บริการการโฆษณา
  • ธุรกิจตัวกลาง ในลักษณะเอเย่นต์จำ หน่าย สินค้าและบริการ เช่น แพลตฟอร์มท่องเที่ยวต่าง ๆ
  • ธุรกิจตัวกลาง หรือ P2P เช่น กลุ่มบริการ Delivery บริการรถโดยสาร เป็นต้น
  • ธุรกิจที่มีรายได้ระบบสมาชิก (Subscription) เช่น บริการ Streaming ภาพยนตร์/เพลงออนไลน์