You are currently viewing CARBON TAX ระเบียบการค้าในยุคใหม่

CARBON TAX ระเบียบการค้าในยุคใหม่

ภาษีคาร์บอน Carbon Tax ระเบียบการค้าในยุคใหม่

       ปัจจุบันทั่วโลกหันมาให้ความสําคัญกับเรื่องความยั่งยืนและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ (Climate Change) ที่นอกจากจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อวิถีชีวิตของเราทุกคนแล้ว ยังส่งผลเสียต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกด้วย จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนสําคัญให้ประเทศต่าง ๆ เริ่มตระหนักถึงปัญหานี้ ด้วยการมองหาวิธีเข้ามาควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission) ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทต่าง ๆ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน เป็นต้น

       ซึ่งก็มีทั้งกลไกที่ทุกคนรู้จักกันดีอย่าง “คาร์บอนเครดิต” ที่เป็นระบบ Cap and Trade คือ ใครปล่อยคาร์บอนเกินเพดานก็จะมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ส่วนบริษัทที่ปล่อยตํ่ากว่าเกณฑ์ก็จะสามารถนําส่วนต่างมาขายเป็นรายได้ นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งกลไกที่หลายประเทศเลือกหยิบมาใช้แบบเข้มข้นขึ้น นั่นคือมาตรการทางภาษีอย่าง “ภาษีคาร์บอน” หรือ Carbon Tax

ภาษีคาร์บอน คืออะไร

       ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เป็นการเรียกเก็บภาษีที่ใช้เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือ CO2) ที่เกิดจากกิจกรรมมนุษย์ เป้าหมายของภาษีคาร์บอน คือ การส่งเสริมให้ผู้คน และธุรกิจลดการปล่อย CO2 ออกมาในบรรยากาศทำให้การใช้พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ และลดการสร้าง CO2 ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก

ภาษีคาร์บอนแบ่งออกเป็น 2 แบบ ดังนี้

       1. ภาษีคาร์บอนตรง (Direct Carbon Tax)  

       คือ การเรียกเก็บภาษีโดยตรงจากกิจกรรมที่ก่อให้เกิด CO2 หรือก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ โดยเรียกเก็บค่าภาษีตามปริมาณ CO2 ที่ปล่อยออกมา ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้บริโภคต้องจ่ายเงินเพิ่มตามปริมาณ CO2 ที่สร้างขึ้น

       2.ภาษีคาร์บอนอ้อม (Indirect Carbon Tax)

       คือ การเรียกเก็บภาษีผ่านทางผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ผลิตหรือใช้งานเพื่อกระตุ้นให้ผู้ผลิตหรือผู้บริโภคมีการลดปริมาณการใช้งานที่สร้าง CO2 โดยการเรียกเก็บภาษีตามปริมาณ CO2 ที่ผลิตขึ้นหรือที่ถูกใช้งาน

       ภาษีคาร์บอนทั้ง 2 แบบมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า และลดการปล่อย CO2 ออกมาในบรรยากาศ เพื่อช่วยลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมมนุษย์ในโลก ดังนั้น ภาษีคาร์บอนจึงมีความสำคัญอย่างมากในการช่วยลดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและให้โลกมีสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์ขึ้นในระยะยาว

ประโยชน์และความสำคัญของภาษีคาร์บอน

  1. ส่งเสริมการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก : ภาษีคาร์บอนช่วยกระตุ้นให้ผู้คน และธุรกิจลดการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนกิจกรรมในทิศทางที่ช่วยลดปริมาณ CO2 ที่ปล่อยออกมา
  2. สร้างขอบเขตทางกฎหมายสำหรับการลดโลกร้อน : การกำหนดภาษีคาร์บอนช่วยสร้างกรอบกฎหมายที่ชัดเจนและเป็นกลางสำหรับการลดปริมาณ CO2 ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
  3. สร้างรายได้สำหรับการลงทุนในพลังงานสะอาด : รายได้จากภาษีคาร์บอนสามารถนำไปใช้ในการสนับสนุนโครงการและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานที่มีการผลิตที่มีอัตราการปล่อย CO2 น้อยลง เช่น พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด
  4. สร้างการแข่งขันและส่งเสริมนวัตกรรม : การเรียกเก็บภาษีคาร์บอนสามารถกระตุ้นการแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สะอาดและมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน โดยการส่งเสริมนวัตกรรมในการลดการใช้งานพลังงานและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง
  5. ช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม : การลดปริมาณ CO2 ที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมมนุษย์ช่วยลดการเสื่อมสภาพของชั้นบรรยากาศและส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ โดยอัตโนมัติ

อัตราการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในต่างประเทศ

       ในต่างประเทศเริ่มนำนโยบายการจัดเก็บภาษีคาร์บอนมาใช้กันอย่างจริงจังแล้ว กรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ ฟินแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศแรกที่บังคับใช้ Carbon Tax ในปี 1990 โดยเริ่มต้นแบบค่อยเป็นค่อยไปจากฐานภาษีที่ต่ำเพียง 1.75 ดอลลาร์ต่อตัน CO2 ก่อนที่จะค่อย ๆ ทยอยเพิ่มอัตราภาษีให้สูงขึ้น จนปัจจุบันฟินแลนด์เก็บภาษีคาร์บอนเฉลี่ยที่ 83.74 ดอลลาร์ต่อตัน CO2

       ปัจจุบันมีกว่า 30 ประเทศทั่วโลกที่เริ่มเก็บภาษีคาร์บอนอย่างเป็นทางการ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรป เช่น ฟินแลนด์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น ส่วนในทวีปเอเชียเองก็มีบางประเทศที่เริ่มขยับตัวเกี่ยวกับภาษีคาร์บอน เช่น ญี่ปุ่น และสิงคโปร์

       อย่างไรก็ดี ระบบภาษีคาร์บอนที่ บังคับใช้ยังคงมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะในแง่ของข้อกำหนดประเภทเชื้อเพลิง รวมถึงรูปการจัดเก็บภาษีที่มีทั้งทางตรงจากการผลิต และทางอ้อมจากการบริโภค ตลอดจนอัตราภาษีที่มีตั้งแต่ 0.08 จนถึง 155.87 ดอลลาร์ต่อตันทั้งนี้ อุรุกวัยเป็นประเทศที่จัดเก็บภาษีคาร์บอนในอัตราสูงที่สุดในโลก โดยเริ่มในปี 2022 ที่ผ่านมา

แนวทางและเป้าหมายการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในประเทศไทย

       ประเทศไทยเริ่มนำแนวคิดการจัดเก็บภาษีคาร์บอนมาใช้ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ตามกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 โดยเป็นการจัดเก็บภาษีคาร์บอนทางอ้อมจากชื่อเพลิงฟอสซิล อ้างอิงตามปริมาณ CO2 ที่ได้จากการเผาไหม้

       โดยปัจจุบันมีการจัดเก็บภาษีตามปริมาณ CO2 ยกตัวอย่างรถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี คือ ปล่อย CO2 ไม่เกิน 150 กรัม/กิโลเมตร อัตราภาษี 25%, ปล่อย CO2 เกิน 150-200 กรัม/กิโลเมตร อัตราภาษี 30% และปล่อย CO2 เกิน 200 กรัม/กิโลเมตร อัตราภาษี 35% ส่วนรถยนต์นั่งความจุของกระบอกสูบเกิน 3,000 ซีซี อัตราภาษี 40%

       หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไป จะเพิ่มภาษีในอัตราที่สูงขึ้นเป็นขั้นบันไดจนไปถึงระดับสูงสุดในปี 2030 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี ปล่อย CO2 ไม่เกิน 150 กรัม/กิโลเมตร 
    อัตราภาษี 30%
  • รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี ปล่อย CO2 เกิน 150 กรัม/กิโลเมตร
    อัตราภาษี 40%
  • รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบเกิน 3,000 ซีซี  อัตราภาษี 50%

       อีกทั้งกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางการนำภาษีคาร์บอนมาบังคับใช้แบบเต็มระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศที่ต้องการเดินหน้าสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และขยับสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net zero emissions) ภายในปี 2065

       โดยจะนำมาปรับใช้แบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนสามารถปรับตัวไปพร้อมกันได้อย่างยั่งยืน คาดว่าจะเริ่มต้นเก็บจากผู้ผลิตสินค้า คือ สินค้าใดที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนก็จะโดนจัดเก็บภาษีกับสินค้านั้น ควบคู่ไปกับการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ก่อมลพิษเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมเพื่อส่งผลดีต่อทั้งทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ระบบเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของประชาชน

       สุดท้ายนี้แนวทางการเก็บภาษีคาร์บอนอย่างเต็มรูปแบบคงต้องเกิดขึ้นแน่นอนไม่เร็วก็ช้า ทั้งมาตรการภายในประเทศ และภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดนที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในสหภาพยุโรป (EU) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2023 เป็นต้นไป ซึ่งจะกลายเป็นระเบียบการค้าของโลกยุคใหม่ที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ

       เพราะฉะนั้น การรีบปรับตัวให้ธุรกิจมีความยั่งยืนตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้มีความได้เปรียบทางการแข่งขัน เริ่มต้นได้ด้วยการหันมาให้ความสำคัญต่อการวางแผนการลงทุนในระยะยาวเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานสะอาด พยายามลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตควรตรวจวัด Carbon Footprint ขององค์กรอยู่เสมอ ตลอดจนมุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งกำแพงภาษี และพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของ ESG อย่างเห็นได้ชัด 

 

Source of information : บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด